2554-01-19

รีวิว : iPad

รีวิว iPad ที่หลายคนรอคอยลองมาดูกันว่า iPad จะทำได้อย่างที่คุณหวังหรือไม่ นอกเหนือจากการรีิวิวตัวเครื่องแล้ว เรายังมีรีิวิวพิเศษ iWork app สำหรับผู้ที่สนใจว่าถ้าจะใช้ iPad ในการพิมพ์เอกสารต่าง ๆ หรือสร้างสไลด์พรีเซ็นเทชั่นจะทำได้ดีแค่ไหนอีกด้วย พร้อมด้วยวิดีโอรีวิวความยาวรวมเกือบ 30 นาที ให้ได้เห็นการทำงานจริงของ iPad

(…สำหรับใครที่ไม่อยากอ่านเพราะรีวิวยาวเวอร์ ๆ (มาก) ไปหน่อยก็ขอเชิญเลื่อนลงไปดูที่วิดีโอได้เลยนะครับ)
รูปร่างหน้าตา

ครั้งแรกที่ได้เห็น iPad ตัวเป็น ๆ ความคิดให้หัวพลันนึกถึง iPhone รุ่นที่ออกมาเมื่อปี 2007 ทันที เหตุด้วยตัวเครื่อง iPad ดูแน่นคล้าย ๆ กับ iPhone ที่เพิ่งออกมาเป็นครั้งแรก ตัว iPad ดูแน่นสมกับที่เป็นตัวโครงแบบ Unibody ที่แอปเปิ้ลใช้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น MacBook, MacBook Pro และ iMac โดยด้านหน้าตัวเครื่องเป็นจอขนาดใหญ่ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่เปิดเครื่องทำงาน ก็เอามาส่องหน้ากันแบบเต็มตากันได้เลย ด้านหลังเป็นอลูมินั่มแบบเดียวกับ MacBook Pro ดูแน่นหนา รอบ ๆ เครื่องมีปุ่มและช่องเท่าที่จำเป็นโดยขนาดปุ่มและช่องต่าง ๆ รอบเครื่องเมื่อมาอยู่บน iPad แล้วดูเล็กลงไปถนัดตาเพราะขนาดปุ่มต่าง ๆ เป็นขนาดเดียวกับที่อยู่บน iPhone งานประกอบตัวเครื่องคงไม่ต้องบรรยายมากเพราะเนียบตามสไตล์แอปเปิ้ลอยู่แล้ว
สำหรับของที่ให้มาในกล่องนอกจากตัวเครื่องแล้วก็มีแค่สาย USB, อแดปเตอร์ชาร์ตไฟบ้าน ส่วนคู่มือ (แต่อย่าเรียกคู่มือเลยดีกว่า) มีมาให้เป็นแผ่นพับ ส่วนเล่มจริงต้องดาวน์โหลดเอาเองจากเว็บแอปเปิ้ล แต่จริง ๆ แล้วแอปเปิ้ลได้ซ่อนคู่มือ iPad ไว้ให้ในเครื่องแล้วใน Safari โดยมีการตั้งค่าบุ๊คมาร์คหน้าเว็บ iPad User Guide ไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งพอกดเข้าไปก็ถือว่าแอปเปิ้ลเตรียมส่วนนี้มาดีทีเดียว แต่ใครจะรู้ว่าแอปเปิ้ลเตรียมมาให้แบบนี้ ?
ด้านการใช้งานทั่วไป
ไม่ต่างกับการใช้งานบน iPhone หรือ iPod touch เพียงแต่เราจะรู้สึกแปลก ๆ ที่หน้าจอใหญ่ขึ้นแบบชนิดที่เรียกว่าพอกลับไปใช้ iPhone หรือ iPod touch จะรู้สึกได้เลยทันทีว่าทำไมจอ iPhone มันเล็กจังทั้ง ๆ ที่ก่อนจะมี iPad จอ iPhone ก็ปกติอยู่ดี ๆ แต่ไหงพอมี iPad แล้วเหมือนจอ iPhone มันหดลง :)
ด้านความเร็วของตัวเครื่องถ้าใช้งานทั่วไปเช่นการเปิดเว็บ, เช็คอีเมลหรือเปิดแอพฯ Facebook ฯลฯ ไมต่างจากการใช้งานบน iPhone 3GS สักเท่าไหร่ ความแรงและเร็วของซีพียู A4 ของ iPad จะเห็นได้ชัดจากการเปิดเล่นเกมที่  “เร็วปรี๊ด” กว่าบน iPhone 3GS แบบสังเกตได้ชัด ที่เคยๆพูดว่า iPhone 3GS ประสิทธิภาพดีกว่า iPhone 3G สองเท่า คงต้องเปลี่ยนใหม่เป็น iPad ประสิทธิภาพดีกว่า iPhone 3GS สองเท่าแล้วล่ะ
ด้านการจับถือและน้ำหนักมีหลายคนถามเข้ามาว่าจับมือเดียวถนัดหรือไม่ ถนัดครับแต่ต้องแน่นในระดับหนึ่งถือถ้าจับแบบหลวม ๆ มีิสิทธิที่เครื่องจะหล่นได้เพราะตัวเคื่องบางพอควรทำให้ตัวเครื่องไม่ได้ อยู่ในอุ่งมือเต็มที่และน้ำหนักของเครื่องที่อาจทำให้เครื่องหล่นจากมือได้ ส่วนการจับถือสองมือไม่ว่าจะแนวตั้งหรือแนวนอนกระชับดีด้วยความที่ด้านหลัง เป็นโค้งแบบหลังเต่าคล้ายกับ iPhone 3GS ทำให้เวลาสอดมือเพื่อถือเครื่องปลายนิ้วจะไปถึงหรือเกือบถึงโลโก้แอปเปิ้ล ด้านหลังเครื่อง ซึ่งเป็นจุดที่กระชับที่สุดในการถือเครื่อง
สำหรับน้ำหนัก 680 กรัม ถ้าดูจากตัวเลขเหมือนจะเบา ซึ่งก่อนได้เครื่องมาคิดเอาเองว่าคงไม่มีปัญหาในการจับถือมือเดียว แต่เอาเข้าจริงน้ำหนักขนาดนี้เป็นปัญหาในการมือถือเดียวเวลาอ่านหนังสือเยอะ เหมือนกัน ซึ่งทำให้ผมถึงบางอ้อที่เห็นในวิดีโอสาธิตการใช้ iPad ในเว็บแอปเป้ิลว่าทำไมต้องวางไว้ที่หน้าขาทุกครั้งที่เห็นจากในวิดีโอ
มีอะไรแปลกใหม่เพิ่มเข้ามาบ้าง ?
Photos สำหรับหน้าตาใน Photos มีการเปลี่ยนแปลงให้ดูหวือหวาขี้นกว่าบน iPhone/iPod touch นิดหน่อย แต่เมื่อได้ใช้งานจริง ๆ ก็ยังไม่ได้มีฟีเจอร์ที่เรียกว่าใหม่จริง ๆ เพิ่มเข้ามาแต่อย่างใด
Maps อันนี้เห็นชัดว่าทำงานได้รวดเร็วตั้งแต่เปิดใช้งาน การเรนเดอร์ภาพแผนที่ทำเร็วกว่าบน iPhone 3GS อย่างเห็นได้ชัด หน้าตาและการวางปุ่มต่าง ๆ แตกต่างไปจากที่เคยใช้บน iPhone 3GS ไปบ้าง การนำทาง (Direction) ทำได้ดีขึ้น (ดูวิดีโอประกอบ)
YouTube ใครชอบตามดูรายการต่าง ๆ จาก YouTube คิดว่าน่าจะชอบเพราะเหมือนกับว่าเรากำลังใช้งานคอมพิวเตอร์เครื่องย่อม ๆ ซึ่งสามารถใช้ดูรายการต่าง ๆ บน YouTube ได้ทุกที่ เช่นบนเตียงนอน ซึ่งเราสามารถนอนดูได้สบาย ๆ ซึ่งหลายคนก็คงเห็นว่าถ้านำมาเทียบกับพวก NetBook ขนาดย่อม ๆ ก็ไมน่าจะต่างอะไรกันมากนัก แต่เอาเข้าจริงการจับถือแบบที่ไม่มีแผงคีย์บอร์ดมาเกะกะมันให้อารมณ์คนละ เรื่องกันเลยครับ
สำหรับหน้าตาเมื่อเข้ามาใน YouTube จะมีความใกล้เคียงกับการใช้งานผ่านหน้าเว็บมากขึ้น สำหรับการเล่นไฟล์วิดีโอแบบ HD ใน YouTube บน iPad ไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าไฟล์ที่เล่นแบบ HD หรือไม่ แต่เท่าที่ได้ทดลองถ้าไฟล์นั้นมีแบบ HD ด้วย ตัว YouTube จะทำการเลือกไฟล์วิดีโอที่เป็นแบบ HD ให้เองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่สามารถเลือกเองได้ว่าจะดูวิดีโอนั้นแบบ HD หรือแบบอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อให้ทำการสตรีมมิ่งได้เร็วกว่าได้ สำหรับการดูวิดีโอใน YouTube ส่วนถ้าเจอพวกวิดีโอขนาดเล็ก ๆ พอขยายเต็มจอไม่เหลือครับ ไฟล์จะดูแตก ๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าต้นฉบับที่อัพโหลดขึ้นไปเล็กหรือใหญ่แค่ไหน
สำหรับการดูหนังฟังเพลงจาก iPad ถือว่าแปลกตาไปบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของ iPod ที่พลิกหน้าตาจากที่เคยเห็นอยู่ใน iPhone ไปเป็นหน้าตาที่ใกล้เคียงกับ iTunes ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ข้อดีที่เพิ่มเข้ามาใน iPad สำหรับการฟังเพลงคือเราสามารถสร้าง Playlist เพิ่มเติมได้เองจากบน iPad ได้เลยทันที
เรื่องเสียงที่ได้จากการฟังเพลงบน iPad ลองเทียบในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ กับ iPhone 3GS เสียงเพลงที่ได้ยินจาก iPad โดยใช้หูฟังเดียวกัน (Sennheiser PX 200) ให้เสียงที่ดังและแน่นมีพลังกว่าบน iPhone 3GS
ทางด้านการรับชมวิดีโอที่เพิ่มเติมเข้ามาคือสามารถดูหนัง HD แบบ 720p ได้บนตัว iPad แล้ว ส่วนการนำไฟล์ที่เราแปลงไว้แค่พอดีหน้าจอ iPhone ที่ 480×320 พิกเซลมาเปิดดูบน iPad แน่นอนว่าภาพที่ได้เห็นเหมือนเอา VCD มาเปิดตัวจอทีวี LCD ใหญ่ ๆ อะไรยังงั้น
App Store / iTunes ด้วยความที่ปัจจุบัน iPad ขายแต่ในอเมริกาประเทศเดียวทำให้การใช้งานในสองส่วนนี้บน iPad จะต้องเป็นสมาชิกของ App Store (US) เพียงอย่างเดียว แต่พวกแอพฯทั้งหลายที่เราเคยดาวน์โหลดจาก App Store (TH) ก็ยังสามารถซิงค์เข้า iPad ผ่านทาง iTunes ได้ปกติ
สำหรับในส่วนของ App Store จะแตกต่างจากบน iPhone ตั้งแต่หน้าตาที่ดูดีมีชาติตระกูลมากกว่า ความรู้สึกในการใช้งานเทียบเคียงได้กับการใช้ App Store จากเครื่องคอมพิวเตอร์ โดย App Store ใน iPad มีแอพฯให้เลือกดาวน์โหลดทั้งที่เป็นของ iPhone เองและของ iPad เองด้วย โดยการแบ่งแอพฯในตอนนี้ว่าตัวไหนรองรับเครื่องอะไร หลัก ๆ ก็แยกจากชื่อแอพฯที่แอพฯสำหรับ iPad จะพ่วงท้ายว่า HD ซึ่งจะพบในเกมเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ก็ลงท้ายว่า for iPad ส่วนแอพฯที่ทำมาแบบยูนิเวอร์แซล (Universal) คือแอพฯเดียวกันแต่รองรับทั้งบน iPhone และ iPad จะมีเห็นว่ามีเครื่องหมายบวก (+) ห้อยอยู่ท้ายชื่อแอพฯด้วย (ใน App Store) ซึ่งแอพฯแบบยูนิเวอร์แซลเมื่อทำการลงใน iPhone ก็จะมีหน้าตาแบบ iPhone ส่วนพอนำมาลงใน iPad ก็จะมีหน้าตาแบบ iPad ไม่เหมือนกับการนำแอพฯที่ยังใช้กับ iPhone เพียงอย่างเดียวแล้วนำมาลงบน iPad ที่จะให้หน้าตาการใช้งานเหมือนกัน
ส่วน iTunes หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนักเพราะถ้าเราล็อกอินด้วยแอคเคาท์ของ App Store ไทยจะไม่สามารถกดเข้าไปดู iTunes Store ได้ ซึ่งทำให้ไม่มีโอกาสได้ลองใช้งานมากนัก สำหรับหน้าตา iTunes Store บน iPad เลย์เอาท์ต่าง ๆ ก็จะใกล้เคียงกับการใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยเราสามารถเลือกซื้อเพลง, ซื้อรายการทีวีและภาพยนตร์ทั้งแบบธรรมดาและแบบ HD ได้เลยทันทีจากบน iPad
การนำแอพฯสำหรับ iPhone มาเปิดบน iPad
เราสามารถนำแอพฯ สำหรับ iPhone / iPod touch ที่เราเคยดาวน์โหลดมาแล้วไม่ว่าจะมาจาก App Store (TH) หรือ App Store อื่นมาลงใน iPad ได้ปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือเมื่อเปิดมาใช้งานครั้งแรกหน้าจอของแต่ละแอพฯช่างเล็ก จิ๋วเสียเหลือเกิน ซึ่งแอปเปิ้ลได้เตรียมปุ่มขยายหน้าจอ 2 เท่ามาให้เพื่อขยายหน้าต่างของแอพฯให้ใหญ่เกือบเต็มจอ ซึ่งสิ่งที่ตามมาสำหรับการขยายใหญ่ 2 เท่าก็คือความละเอียดของแอพฯห่วยเป็นที่สุด ทั้งภาพกราฟฟิคแลตัวหนังสือแตก ๆ (แต่ก็อ่านรู้เรื่องอยู่บ้าง) ซึ่งถ้าไม่ซีเรียสมากในการใช้แบบนี้เราสามารถใช้งานแอพฯ ต่าง ๆ ได้ปกติ สำหรับบางแอพฯที่พอนำมาลงใน iPad แล้วรู้สึกว่าเล่นบน iPhone สนุกกว่าอย่างเช่นเกม Street Fighter IV ที่เวลาโยกจอยเสมือนบนหน้าจอ iPad รู้สึกว่าไม่ได้อย่างใจเหมือนที่เล่นบน iPhone (ดูวิดีโอด้านล่างประกอบ)
โดยรวมเรื่องการเปิดแอพฯสำหรับ iPhone บน iPad นั้นถ้าคุณผู้อ่านใช้ iPhone หรือ iPad touch มาก่อนหน้านี้อยู่แล้วคงทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าใครที่ยังไม่เคยมี iPhone / iPod touch ในครอบครองมาก่อนแนะนำให้ดาวน์โหลดแอพฯสำหรับ iPad โดยเฉพาะหรือแอพฯที่เป็นแบบยูนิเวอร์แซลมาให้งานเพื่อไม่ให้เซ็งกับการเจอ หน้าจอเบลอ ๆ เมื่อใช้แอพฯ สำหรับ iPhone มาเปิดบน iPad
ด้านการอ่านหนังสือ
เรื่องนี้คงร่ายกันยาวมาก ๆ เพราะมีหลายอย่างที่เป็นจุดน่าสนใจ และสำหรับหลายคนที่กำลังตัดสินใจซื้อ iPad เริ่มกันที่แอพฯ iBooks ที่แม้จะไม่ได้มาด้วยกับเครื่องตั้งแต่ต้น แต่ก็สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจากใน App Store (US)  ซึ่งพอดาวน์โหลดเสร็จเรียบร้อยตัวแอพฯจะมีหนังสือมาให้อ่านฟรี ๆ หนึ่งเล่มด้วยกันคือหนังสือ Winnie the Pooh การอ่านหนังสือดิจิตอลแบบนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมาก ๆ เพราะยังไม่เคยได้เป็นเจ้าของเครื่อง E-Reader ใด ๆ มาก่อนมีก็แต่เห็นหรือสัมผัสบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ โดยความรู้สึกจากการอ่านหนังสือบน iPad ดูน่ารักและยังให้ความรู้สึกเหมือนอ่านจากหนังสือฉบับจริงอยู่บ้างนิดหน่อย จากที่เวลาพลิกหน้าหนังสือจะมีเอฟเฟ็กต์เหมือนเราเปิดหน้ากระดาษจริง ๆ (ไม่มีเสียงพลิกหน้ากระดาษนะ) และที่รู้สึกว่าเหมือนการอ่านหนังสือจริง ๆ อีกอย่างคงเป็นเรื่องน้ำหนักเครื่องที่ใช้อ่านหนังสือนาน ๆ ก็เมื่อยมือเมื่อยแขนได้เหมือนกัน (ฮา) การอ่านสามารถอา่นได้ทั้งแบบแนวตั้งที่เป็นแบบหน้าเดี่ยวและแนวนอนแบบหน้า คู่ตามแต่ถนัด การเลือกเปลี่ยนขนาดตัวหนังสือภาษาอังกฤษให้เล็กหรือใหญ่ทำได้รวดเร็ว ส่วนการเลือกเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษรภาษาอังกฤษแอปเปิ้ลเตรียมรูปแบบตัวอักษร มาให้ทั้งหมด 5 แบบ ซึ่งเราสามารถเลือกเปลี่ยนได้ตามใจชอบ
ด้านการใช้งาน iBookstore ที่ปัจจุบันเข้าถึงได้จากบน iPad เพียงอย่างเดียวนั้น (ใน iTunes Store บนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มี iBookstore ให้ใช้งาน) เมื่อเข้ามาแล้วหนอนหนังสือรับรองว่าต้องชอบกันแน่ ๆ เพราะมีหนังสือรองรับคลอบคลุมเกือบทุกกลุ่ม ส่วนใหญ่หนังสือดี ๆ หรือที่น่าอ่านเป็นหนังสือที่ต้องเสียเงินซื้อ แถมไม่มีการลดราคาเหมือนบรรดาแอพฯใน App Store เดียวด้วย โดยราคาหนังสือฉบับ iPad กับเล่มพิมพ์จริงต่างกันไม่มากเท่าไหร่ เท่าที่สังเกตและนำมาเทียบกันราคาฉบับ iPad ถูกกว่าราว 20 เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนใหญ่ บางเล่มก็มีราคาเท่า ๆ กับฉบับพิมพ์จริงเช่นกัน ส่วนหนังสือที่แจกฟรีส่วนใหญ่หรือจะเรียกว่าเกือบร้อยละร้อยเลยก็ว่าได้เป็น หนังสือหรือนิทานที่หมดลิขสิทธิ์นานแล้ว ซึ่งสามารถนำมาแจกได้ฟรี ส่วนตัวเคยนึกว่าราคาฉบับดิจิตอลน่าจะมีราคาถูกกว่าฉบับพิมพ์จริงอยู่ราว 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอได้เห็นราคาแบบนี้คงต้องเลือกอ่านเล่มที่ชอบมาก ๆ ซะแล้วไม่อย่างน้นเปลืองทรัพย์ในกระเป๋าเงินเป็นอย่างยิ่ง
แล้ว iBooks รองรับการอ่านหนังสือภาษาไทยหรือไม่ ?
คำตอบคือรองรับการอ่านหนังสือภาษาไทยครับ โดยเรื่องนี้ผมได้ทดลองด้วยการแปลงไฟล์ PDF หนังสือภาษาไทย โดยทำตามวิธีในเว็บ โดยใช้โปรแกรม Calibre (มีทั้งบน Mac และ Win) โดยเป็นการแปลงไฟล์จาก PDF เป็น ePub ที่เป็นฟอร์แมทหนังสือที่อยู่ใน iBookstore ซึ่งพอแปลงเสร็จเรียบร้อยแล้วนำไฟล์ ePub โยนเข้า iTunes แล้วซิงค์กับ iPad เปิดดูก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ตัวอักษรภาษาไทยถ้ามีเยอะมาก ๆ จะมีปัญหาเวลาที่เราพลิกจากแนวตั้งเป็นแนวนอนหรือแนวนอนเป็นตัวตั้ง ที่ตัว iBooks จะมีการเรนเดอร์ตัวหนังสือมหมดทั้งเล่มพร้อมคำนวณจำหน้าหน้ากระดาษใหม่ด้วย ทำให้การพลิกตัวเครื่องแต่ละครั้งจะต้องรออยู่อึดใจใหญ่ ๆ กว่าที่จะพลิกหน้าหนังสือต่อไปได้
สำหรับในส่วนของการอ่านหนังสือภาษาไทยจากการแปลงไฟล์ PDF นี้สรุปได้ขอให้ต้นฉบับที่เป็น PDF เป็นตัวหนังสือมาอย่างเดียวดีที่สุด เพราะถ้าในไฟล์ PDF ถ้ามีรูปอยู่ด้วย เช่นมีภาพพื้นหลังมาด้วยเวลาแปลงไฟล์เป็น ePub ตัวภาพพื้นหลังจะติดมาด้วยทำให้เวลาที่อ่าน ๆ ไปจะมีรูปมารบกวนทุกหน้าไป
แปลงนิตยสารแบบ PDF เป็น ePub ?
ส่วนถ้าใครคิดจะนำพวกนิตยสารที่เป็น PDF มาแปลงเป็น ePub ยิ่งไม่ต้องทำให้เสียเวลา เพราะตามธรรมาชาติของนิตยสารทั้งไทยทั้งเทศจะมีการจัดรูปแบบหน้าเป็นลักษณะ เฉพาะเช่นในหน้าเดียวกันมีการวางรูปทางซ้ายรูปหนึ่งพร้อม ๆ กับทางขวาอีกสองรูปทำให้เวลาแปลงเป็น ePub เสร็จแล้วทั้งรูปและตัวหนังสือจะเพี้ยนอย่างหาที่สุดไม่ได้
สรุปสำหรับในส่วนของการอ่านหนังสือถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษไม่มีปัญหา เพราะตัวเครื่องรองรับแบบเต็มเหนี่ยวอยู่แล้ว ส่วนการอ่านหนังสือภาษาไทยเท่าที่ลองแม้จะเป็นหนังสือที่มีแต่ตัวอักษรเพียว ๆ ก็ยังมีผิดเพี้ยนอยู่บ้างเช่นเรื่องการเคาะวรรค, ช่องไฟระหว่างตัวอักษร ทั้ง ๆ ที่ต้นฉบับ PDF แสดงผลถูกต้อง แต่ก็ถือว่ายังสามารถอ่านได้ปกติ ส่วนการนำนิตยสารไฟล์ PDF หรือไฟล์ PDF ที่มีรูปภาพเยอะ ๆ มาแปลงเป็น ePub ไม่แนะนำเพราะจะผิดเพี้ยนจนไม่สามารถอ่านได้ ทางออกคือให้ใช้โปรแกรมที่รองรับการเปิดไฟล์ PDF ช่วยในเรื่องนี้
iWork (Pages และ Keynote) และการใช้งานคีย์บอร์ดทั้งบนจอและคีย์บอร์ดแยกต่างหาก
หัวข้อนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมเองอยากรู้ที่สุดว่าถ้าเราจะใช้ iPad ทำงานที่เราเคยทำบนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น iPad จะทดแทนได้สักกี่เปอร์เซ็นต์
(กลุ่มแอพฯ iWork มีด้วยการ 3 แอพฯ ได้แก่ Pages, Keynote และ Numbers ต้องซื้อเพิ่มแอพฯละ $9.99)
Pages
เร่ิมกันที่ Pages ถ้าคุณผู้อ่านเป็นคนที่คุ้นเคยกับการใช้ชุดโปรแกรม iWork บนเครื่อง Mac อยู่แล้ว การใช้ Pages บน iPad ทำได้ใกล้เคียงกับการใช้บนเครื่อง Mac มาก ๆ เลยครับ การพิมพ์สามารถเลือกได้ว่าเราจะพิมพ์ในหน้าจอแนวตั้งหรือแนวนอน การใช้งานทั่วไปในการพิมพ์ยกมาจากในเวอร์ชั่นบนเครื่อง Mac เกือบทั้งหมด แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีการใช้แบบเดิมบนเครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นแบบ ฉบับสำหรับ iPad กันสักนิด เช่นการเปลี่ยนขนาดตัวอักษรจะไม่ได้อยู่ในส่วนเมนูบาร์ด้านบน แต่จะเข้าไปซ่อนในเมนูที่เกี่ยวข้องอื่นอีกที เป็นต้น สำหรับการแสดงผลภาษาไทยเท่าที่ทดลองด้วยการนำไฟล์ Pages จากบนเครื่อง Mac มาเปิดใน iPad สามารถแสดงผลได้ถูกต้องไม่มีผิดเพี้ยน ส่วนเรื่องรูปแบบตัวอักษร (Font) ใน Pages ได้เตรียมมาให้เยอะประมาณหนึ่งซึ่งก็รวมฟอนต์ Thonburi เข้าไปด้วยแล้ว ด้านการใส่รูปภาพสามารถเลือกภาพที่อยู่ใน Photos บน iPad มาใช้ได้ ส่วนพวกกราฟหรือแผนภูมิแบบต่าง ๆ สามารถใช้งานได้แค่แบบ 2 มิติเพียงอย่างเดียว ไม่มีกราฟหรือแผนภูมิแบบ 3 มิติให้เลือกใช้แต่อย่างใด เอกสารที่พิมพ์จาก iPad สามารถ Export ออกมาได้เป็น Pages, PDF และ DOC
สำหรับเรื่องขัดใจใน Pages บน iPad คงเป็นเรื่องการใส่ไฟล์เอกสารเข้าออกที่ต้องทำผ่านทาง iTunes เพียงอย่างเดียว หรือการจะส่งเอกสารต่อให้คนอื่นจากบน iPad ก็จะทำได้ทางเดียวคือส่งผ่านทางอีเมลเท่านั้น (ในกรณีที่ไม่ได้ซิงค์กับ iTunes) เอาว่าถ้าคุณผู้อ่านทำงานจบได้ในตัวคนเดียวไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องส่งไฟล์ไปให้คนอื่นระหว่างทำงานอาจอึดอัดในเรื่องนี้อยู่มาก เหมือนกัน
Keynote
สำหรับ Keynote ถ้าดูแค่ที่สตีฟ จ๊อบส์เคยสาธิตให้ดูนั้นขอบอกว่าว้าวๆมาก ซึ่งพอได้ใช้งานจริงยอมรับเลยว่าต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่หรือเรียก ว่าละลายพฤติกรรมการทำงานแบบเดิมที่เคยใช้บนเครื่อง Mac ทิ้งไปได้เลย
ในการทำงานเบื้องต้นขอบอกว่าง่ายมากทั้งการใส่รูป, จัดรูป, การเพิ่มเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ สามารถเข้าใจได้ง่ายขนาดที่ว่า Keynote บนเครื่อง Mac เข้าใจได้ค่อนข้างง่ายแล้วบน iPad สามารถเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ง่ายกว่า สำหรับเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ทั้งหมดใน Keynote บน iPad จะเป็นแบบ 2 มิติเพียงอย่างเดียวไม่มีกราฟหรือแผนภูมิแบบ 3 มิติให้เลือกใช้
เท่าที่ได้ลองทำสไลด์แบบง่าย ๆ ในชั่วเวลาหนึ่งถ้าเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้งาน Keynote บนเครื่อง Mac เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะปรับตัวได้เร็วเพราะหน้าตารวมถึงปุ่มคำสั่งใกล้เคียง กัน หรือถ้าหาไม่เจอก็เดาได้ไม่ยากว่าคำสั่งที่ต้องการน่าจะอยู่ตรงไหน สำหรับเรื่องรูปแบบตัวอักษร (Font) และการปรับขนาดตัวอักษรเมนูดังกล่าวจะซ่อนอยู่ในเมนู Inspector > Style อีกที ไม่ได้โชว์อยู่บนเมนูบาร์แต่อย่างใด ทำให้การใช้งานในครั้งแรกอาจจะพาลนึกไปว่า Keynote ไม่สามารถเปลี่ยนฟอนต์ได้ไปซะอย่างนั้น
ข้อเสียที่ผมเองรู้สึกขัดใจคือถ้าเรานำไฟล์ Keynote ที่ทำชนิดสวยงามกราฟและแผนภูมิต่าง ๆ เป็นแบบ 3 มิติระดับเทพมาจากบนเครื่อง Mac พอนำไฟล์ดังกล่าวมาเปิดบน iPad ‘เละ’ อย่างแรกที่พอนำมาเปิดจะตัว Keynote บน iPad จะพยายามแปลงภาพ 3 มิติต่าง ๆ เป็น 2 มิติ ซึ่งถ้าเอฟเฟ็กต์ไม่เยอะมาก็เละน้อยหน่อย แต่ถ้าเอฟเฟ็กต์เยอะมากก็เละเยอะหน่อย เช่นแผนภูมิแแท่งแบบ 3 มิติพอนำมาเปิดใน iPad กลายเป็น 2 มิติและมีการจัดรูปแบบหน้าเพี้ยนไปเล็กน้อย ใครที่หวังว่าจะโยนไฟล์ Keynote จากเครื่อง Mac มาทำต่อใน iPad อาจจะต้องคิดกันให้ดี ๆ ว่าในสไลด์ดังกล่าวติดข้อจำกัดในการใช้บน iPad หรือไม่ ส่วนการนำไฟล์เข้าออกก็เหมือนกับ Pages คือต้องทำผ่าน iTunes เพียงอย่างเดียว การส่งต่อให้คนอื่นสามารถในกรณีที่ไม่ได้ต่อกับ iTunes สามารถ Export ออกมาได้เป็น Keynote และ PDF เจอแบบนี้ลำบากคนทำงานเหมือนกัน
เรื่องคีย์บอร์ดทั้งบนจอและแยกต่างหาก
คึย์บอร์ดบนหน้าจอทั้งแนวตั้งและแนวนอน
สำหรับเรื่องคีย์บอร์ดบน iPad ที่ในปัจจุบันยังไม่มีภาษาไทยเข้ามานั้น ทำให้หลัก ๆ เราก็จะใช้แค่คีย์บอร์ดภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว สำหรับความรู้สึกที่ได้ใช้คีย์บอร์ดเสมือนแบบมหึมาบนหน้าจอ iPad แปลก ๆ ไปบ้างจากบน iPhone เพราะจ้องแต่จะเตรียมท่าพิมพ์วาง 4 นิ้วบนคีย์บอร์ดท่าเดียว แต่ถ้าทำแบบนั้นก็พิมพ์ไม่ได้พอดีเพราะวางนิ้วลงไปปั๊บก็เท่ากับกดปุ่มใด ๆ ทันที ทำให้ท่าทางการวางนิ้วต้องยกมือลอยเหนือคีย์บอร์ดอยู่เล็กน้อย ระยะการก้าวนิ้วผมลองวัดระยะห่างระหว่างแป้นพิมพ์ระหว่างตัวอักษรบนหน้าจอ แนวนอนกับบนคีย์บอร์ดจริง ๆ บน MacBook พบว่าเป็นระยะห่างเดียวกันทำให้ถ้าใครที่คุ้นเคยกับการพิมพ์แบบปกติก็จะ สามารถก้าวนิ้วได้เหมือนกับบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่แม้จะมีระยะก้าวนิ้วเหมือนบนเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ตามเวลาใช้งานจริงก็ยัง มีพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกอยู่บ้าง เลย์เอาท์คีย์บอร์ดบน iPad แม้ว่าจะเใกล้เคียงกับคีย์บอร์ดบนเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วก็ตามแต่ก็ยังมีติด ขัดอยู่ดีเช่นจังหวะการพิมพ์ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ต้องมาจิ้มคีย์บอร์ดเพื่อเปลี่ยนเป็นหน้าตัวเลขและสัญลักษณ์ต่าง ๆ การเปลี่ยนภาษาในกรณีที่มีการเพิ่มภาษาเป็นลักษณะเดียวกับคีย์บอร์ดบน iPhone คือต้องกดที่แป้นรูปลูกโลกเพื่อเปลี่ยนภาษา สรุปว่าการพิมพ์จากหน้าจอสะดวกประมาณหนึี่งเนื่องจากจิ้มตัวอักษรได้ง่าย แต่ไม่เหมาะกับการพิมพ์แบบต่อเนื่องนาน ๆ
เชื่อมต่อกับคีย์บอร์ด Apple Wireless Keyboard ผ่านทาง Bluetooth ได้
มีหน้าต่างเวลาที่กดสลับภาษาเวลาที่ใช้คีย์บอร์ดแยกต่างหาก
การต่อกับคีย์บอร์ดผ่านทาง Bluetooth ผมทดลองกับ Apple Wireless Keyboard การเชื่อมต่อทำได้ไม่ยาก ด้านการใช้งานเมื่อเชื่อมต่อเสร็จเรียบร้อยเวลาพิมพ์งานต่าง ๆ เช่นใน Pages จะไม่มีคีย์บอร์ดเสมือนบนหน้าจอปรากฏขึ้นมาแต่อย่างใด ปุ่มควบคุมต่าง ๆ บน Apple Wireless Keyboard เท่าที่ใช้กับ iPad ได้ก็มีปุ่มปรับระดับแสงหน้าจอ, ปุ่มปรับระดับเสียง, ปุ่ม Play/Puase, Back/Forward (ใช้ได้เมื่อเปิด iPod ฟังเพลง) ส่วนการกดเปลี่ยนภาษาสามารถใช้การกดปุ่ม Command+Space Bar ได้ซึ่งทำให้การใช้งานมีความรวดเร็วมากขึ้น ส่วนด้านการพิมพ์จากคีย์บอร์ดแท้ ๆ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากนัก เพราะผู้อ่านคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ใครที่ต้องการพิมพ์เอกสารต่อเนื่องนาน ๆ แนะนำว่าต่อกับ Apple Wireless Keyboard สะดวกกว่ากันเยอะ (ดูวิดีโอด้านล่างประกอบ)
แบตเตอรี่
สำหรับเรื่องแบตเตอรี่ “ประทับใจมาก” ในการทดสอบผมพยายามใช้งานเหมือนเป็นปกติเหมือนที่เคยใช้บน iPhone เช่นการเปิดดูข่าวจากเว็บต่าง ๆ บ้าง, เปิดแอพ twitter และ facebook เพื่อใช้งานเป็นครั้งคราวตลอดระยะเวลาที่ทดสอบ, เปิดดู YouTube ต่อเนื่องเป็นบางช่วง, อีเมลเช็คตลอดเวลา (เปิด Push Notification ไว้ด้วย), เปิดอ่านหนังสือจาก iBooks บ้างนิดหน่อยม มีช่วงที่ต้องออกไปทานอาหารบ้าง และอื่น ๆ ที่เคยทำเป็นปกติ คือไม่เร่งโหมในการทดสอบเรื่องแบตเตอรี่ พบว่าการชาร์ตแบตเตอรี่หนึ่งครั้งผมสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ได้ถึง 15 ชั่วโมง (100% > 15% / ตั้งแต่บ่ายสามโมงถึงหกโมงเช้าวันถัดไป) แน่นอนว่าระยะเวลาการใช้งานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าที่แอปเปิ้ลโม้ว่าใช้งานได้ต่อเนื่องตลอดเวลา 10 ชั่วโมงไม่ใช่เรื่องโม้เกินความจริง ส่วนเรื่องตัวเครื่องร้อนหรือไม่ถ้าใช้งานต่อเนื่องนาน ๆ เท่าที่สังเกตถือว่าด้านหลังเครื่องร้อนจะแค่อุ่น ๆ เพียงนิดหน่อย ถ้าเทียบกับ iPhone 3GS ที่ใช้อยู่ iPad ร้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ iPhone 3GS แบบต่อเนื่องในระยะเวลาเท่า ๆ กัน
สำหรับการชาร์ตแบตเตอรี่ให้ iPad ต้องทำผ่านอแดปเตอร์ชาร์ตไฟบ้านเท่านั้นไม่สามารถชาร์ตไฟผ่านทาง USB บนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เนื่องด้วยกระแสไฟที่ปล่อยออกมาไม่เพียงพอ ซึ่งเวลาที่เราเสียบ iPad เพื่อซิงค์ข้อมูลกับ iTunes บนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะเห็นตัวหนังสือตรงมุมเดียวกับแบตเตอรี่เขียนไว้ เลยว่า Not Charging
สรุปสำหรับ iPad ถ้าใครจะซื้อมาแทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คขอให้คิดใหม่ เพราะ iPad ยังไง ๆ ก็แทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไม่ได้ทั้งหมดอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นการ เชื่อมต่อที่จำกัด ใส่ไฟล์เอกสารก็ไม่อิสระเพราะต้องทำผ่านทาง iTunes อย่างเดียว เรื่องพวกนี้ล้วนเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน iPad แต่ถ้าคิดว่าจะนำ iPad มาให้งานแนวสบาย ๆ เช่นใช้ iPad เข้าเว็บก่อนนอนหรือตอนตื่นเช้าด้วยจอใหญ่ ๆ , ดูคลิปละครย้อนหลังใน YouTube แบบดูได้ชัด ๆ แบบที่ไม่ต้องลุกไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์, ชอบอ่านหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คต่าง ๆ , ทำงานบ้างนิดหน่อยบน iPad ในบ้างครั้ง iPad ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของคุณครับ
ย้ำอีกครั้ง …iPad แทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไม่ได้
จุดสังเกต
  • ยังไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทย (11 เม.ย. 53)
  • ขณะซิงค์ข้อมูลกับ iTunes จะไม่มีการชาร์ตแบตเตอรี่ไปด้วย
  • แบตเตอรี่ใช้งานต่อเนื่องได้นานมาก
  • สะดวกในการใช้ท่องเว็บ, ดู YouTube และอ่านหนังสือ
  • ใช้งานแทนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดไม่ได้
ราคา : iPad (Wi-Fi) 16GB $499/32GB $599/64GB $699  (ยังไม่มีราคาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นทางการ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น